‘ไอคอม’ รุกตลาดแอนิเมชั่นสร้างแอนิเมเตอร์สู่ระดับโลก

           ในอนาคตผู้ชำนาญการในวงการไอทีมีการคาดการณ์กันว่า ต่อไปโลกมัลติมีเดียจะเหลือแค่ภาพและเสียงเท่านั้น เพราะแอนิเมชั่นจะกลายเป็นที่สุดของเครื่องมือเพื่อใช้ในการสื่อสาร เพราะมูลค่า ตลาดแอนิเมชั่นในประเทศไทยสร้างรายได้ รวมอยู่กว่า 14,500 ล้านบาทในปัจจุบัน ทั้งยัง สามารถเติบโตได้อีกเป็นเท่าตัว จึงทำให้ ตลาดแรงงานมีความต้องการแอนิเมเตอร์ และบุคลากรด้านมัลติมีเดียประยุกต์เป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ไอคอม เทค ในฐานะผู้นำด้านธุรกิจสินค้าไอที จึงต้องการใช้ศักยภาพของบริษัทที่มีมากว่าสิบปีมาช่วยพัฒนาศักยภาพแอนิเมชั่นระดับภาคการศึกษา เพื่อเป็นรากฐานสร้างแอนิเมเตอร์สู่ความต้องการของตลาดโลก
ด้วยการจัดเวทีการแข่งขันสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นระดับมหาวิทยาลัย Asiagraph Reallusion Award 2017 เพื่อเฟ้นหาทีม ผู้ชนะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันต่อบนเวทีโลกที่ประเทศไต้หวัน โดยการแข่งขัน ครั้งนี้ ไอคอม เทค เป็นผู้เดียวในประเทศไทยที่ได้รับลิขลิทธิ์ในการจัดกิจกรรมจาก Asiagraph Reallusion ซึ่งเป็นหน่วยงาน สากลที่ก่อตั้งในประเทศไต้หวัน ที่มุ่งเน้นส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้ใช้มัลติมีเดียเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
“ริกส์ เซียว” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอม เทค จำกัด กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้มี 18 มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนทั้งสิ้น 31 ทีม โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นสถานที่จัดการแข่งขัน
“ก่อนการแข่งขันนักศึกษาจะได้เรียนรู้ จาก 2 กูรูชื่อดังในวงการแอนิเมชั่น คือ สันติ เลาหบูรณกิจ แห่งวิธิตา แอนิเมชั่น ผู้ก่อกำเนิดปังปอนด์ แอนิเมชั่น และ ตัวการ์ตูนก๊อดจิ ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่อง Storytelling in Animation พร้อมด้วย วณิชยา ตั้งสุทธิวงศ์ แห่ง The Monk Studios มาแชร์ประสบการณ์กับผลงาน Nine ที่คว้ารางวัลในเวทีโลกมามากมายเพื่อเป็นประโยชน์ก่อนการแข่งขัน และในวันสุดท้ายหลังปิดฉากการแข่งขัน จะเข้าสู่ช่วงการตัดสินผลงาน โดยได้รับเกียรติจากกูรูชื่อดังในวงการสื่อและแอนิเมชั่น อาทิ อาจารย์เปลว ศิริสุวรรณ ผู้กำกับ ชื่อดัง, ธนัญวิชญ์ ลิ้มดำรงชิต ผู้บริหาร Muffin Animation และ ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงแห่งโมโน กรุ๊ป มาเป็น คณะกรรมการในการตัดสินผลงาน”

          สำหรับโจทย์การแข่งขันรอบคัดเลือกที่ประเทศไทย นักศึกษาจะทราบก่อนการแข่งขันเพียงไม่กี่วินาทีนั้น ซึ่งโจทย์คือ Friendship โดยผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องใช้ซอฟต์แวร์ iClone ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงของบริษัท Reallusion จากประเทศไต้หวัน ในการจัดประกวดแข่งขันรอบแรก เพื่อสร้างแอนิเมชั่น โดยสิ่งสำคัญที่เรามุ่งเน้นคือการเล่าเรื่อง เพราะ iClone เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้การทำแอนิเมชั่น ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเล่าเรื่องขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาว่าจะแตกต่างและน่าสนใจแค่ไหน
โดยทีมที่ชนะเลิศ ได้แก่ ภาควิชาสื่อนฤมิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และภาควิชาวิศวกรรมมัลติมีเดีย และระบบอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันสร้างผลงานแอนิเมชั่นบนเวทีโลก ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ส่วนอีก 2 รางวัล คือ Best Creative จากวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และรางวัล Best Director จากภาควิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี
“เวทีนี้เป็นเวทีที่ทำให้เยาวชนไทยแสดงศักยภาพในทักษะของแอนิเมชั่น ซึ่งถือเป็น เทรนด์ของตลาดโลก ทั้งยังเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งนอกจากการจัดการแข่งขัน Asiagraph Reallusion Award 2017 รอบคัดเลือกประเทศไทย ทางไอคอม เทค ยังพร้อมสนับสนุนทุนการศึกษา และค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง ไปแข่งขันต่อรอบสุดท้าย ที่กรุงไทเป ประเทศไต้หวันอีกด้วย รวมมูลค่าการจัดงาน ทั้งสิ้นกว่าหนึ่งล้านบาท”
“ทมร วิริยะ” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไอคอม เทค จำกัด กล่าวเสริมว่า จุดเริ่มต้นของการแข่งขัน Asiagraph Reallusion Award เริ่มตั้งแต่ปี 2013 ในประเทศไต้หวัน โดยร่วมมือกับภาคธุรกิจคือ Asiagraph และ Reallusion และองค์กรความร่วมมือของ หน่วยงานหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย
“Asiagraph Reallusion ให้ความสำคัญในการพัฒนาเด็ก และเยาวชนที่เน้นเรื่องการสร้างสื่อมัลติมีเดียเป็นพิเศษ จึงมีการจัดงานประกวดแข่งขันของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ของมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่มีการมุ่งเน้น การจัดการเรียนการสอนด้านมัลติมีเดียเป็นพิเศษจากประเทศสมาชิกขึ้นในทุกปี ซึ่งการแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 2 รอบ ด้วยกัน คือ รอบแรก (Local Round) รอบคัดเลือกของประเทศแต่ละประเทศ และรอบสุดท้าย (Final Round) รอบชิงแชมป์ จัดที่ประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นการประกวดแข่งขันแบบ Live ที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในโลก ซึ่งผลงานของนักศึกษาที่เข้าแข่งขันรอบสุดท้ายจะถูกนำไปแสดงที่หอแสดงผลงาน ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป”
ขณะที่ “ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยเห็นแนวโน้มการเติบโตของตลาดแอนิเมชั่นที่สูงขึ้นทุกปี ล่าสุดจึงจัดทำหลักสูตรเพื่อรองรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ ชื่อวิทยาลัยครีเอทีฟ ดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี (ANT) โดยเน้นบุคลากรที่สอนต้องเป็นผู้มีประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมโดยตรง และเน้นการพัฒนาหลักสูตรให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มีทักษะในการนำไปประยุกต์ใช้กับผลงานตัวเอง ทั้งยังสามารถพัฒนาต่อจนเกิดผลงานที่สร้างประโยชน์
“ถือเป็นเทรนด์ของโลกที่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีความเป็นดิจิทัล ดังนั้นเราจึงร่วมกับภาคธุรกิจที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้นักศึกษาเก่งด้านเทคนิค ด้านธุรกิจ พร้อมกับส่งเสริมให้พวกเขาก้าวสู่การสตาร์ตอัพ หรือมีทักษะในการเป็นแอนิเมเตอร์ได้”
ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังเน้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพราะต้องการให้เด็กมีการเรียนรู้จากโจทย์ที่ เกิดขึ้นและสามารถหาโซลูชั่นในการทำงานได้จริง เพื่อพร้อมจะก้าวสู่ตลาดแรงงานที่สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศ และเวทีโลก ซึ่งเวทีการแข่งขัน Asiagraph Reallusion Award 2017 จะช่วยให้เด็กได้ใช้วิชา ความรู้ที่เรียนมาพัฒนาตนเองให้พร้อมต่อโลกปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง
นับว่าเป็นเวทีสำคัญที่ช่วยสร้างบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และมัลติมีเดียแอนิเมชั่นของไทย ให้มีทักษะความเชี่ยวชาญระดับสูงในด้านเทคนิค ฝีมือการผลิต และมีเครือข่ายเพื่อก้าวสู่อาชีพในระดับโลกต่อไป

C-170403023007

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]