‘ข้าวสังข์หยดอินทรีย์’เพิ่มรายได้ชาวนา

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2560
มหาวิทยาลัยทักษิณอนุรักษ์ความเป็นพื้นถิ่น ส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวสังข์หยด อินทรีย์ เผยใช้ประเด็นราคารับซื้อ 1.5 หมื่นบาท/ตันเป็นกลไกขับเคลื่อน มีเครือข่ายเกษตรกรสมาชิก 400 ราย กำลังการผลิต 1,200 ตันต่อปี
ดร.อนิศรา เพ็ญสุข ติ๊บแก้ว อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าวสังข์หยด 3,500 ไร่ กำลังผลิตข้าว 1,200 ตันต่อปี เปลี่ยนการทำนาที่ใช้สารเคมีหรือที่เรียกกันว่า “นาเคมี” มาเป็น “การทำนาอินทรีย์” อีกทั้งติดชื่อแบรนด์ MANORA (มโหราห์) โดย ผ่านการคัดเมล็ดพันธุ์และใช้วิธีการขัดสีแบบซ้อมมือ ซึ่งจะนำเปลือกหุ้มออกเพียงแค่ 30% ทำให้หุงง่ายและที่สำคัญไม่แข็งกระด้าง
“จากการทำงานเรื่องการกำกับและควบคุมมาตรฐานการผลิตข้าวร่วมกับเกษตรกรเป็นเวลา 6 ปี มีข้อสังเกตคือ เกษตรกรขาดแรงจูงใจที่จะปรับเปลี่ยนจากนาเคมีมาเป็นนาอินทรีย์ เนื่องจากไม่มีความแตกต่างทางด้านราคา ทางโครงการวิจัยจึงนำเรื่องราคามาเป็นกลไกขับเคลื่อนโครงการและชูจุดเด่นข้าวสังข์หยดอินทรีย์ นอกจากเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาทำนาอินทรีย์มากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ราคาต้นทางจากผู้ผลิตโดยตรงและราคาปลายทาง ผู้บริโภค มีความสัมพันธ์กันอย่างสมเหตุสมผล” ดร.อนิศรา กล่าว โครงการได้รับซื้อผลผลิตจากเกษตรสมาชิกราคาตันละ 1.5-1.7 หมื่นบาท ตามคุณภาพและการเจือปน อาจจะดูเหมือนราคาสูงแต่เนื่องจากข้าวสังข์หยดให้ ผลผลิตต่ำ ประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่ อีกทั้งมีฤดูเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพียงครั้งเดียวในระยะเวลา 6 เดือน โครงการนี้นอกจากจะรักษาความเป็นพื้นถิ่นของจังหวัดแล้ว ยังเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างให้กับนักศึกษาได้ดีอีกด้วย และทำให้เกษตรกรในโครงการก่อเกิดเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง บางกลุ่มมีความสามารถมากพอที่จะเป็นวิทยากรให้กับอีกกลุ่ม เพื่อส่งต่อความรู้ให้กับเกษตรกรด้วยตนเอง บางกลุ่มมีพื้นที่พร้อมที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ป้อนให้กับกลุ่มอื่นต่อได้ สิ่งสำคัญในโครงการ นั่นคือการบูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วน ทั้ง เกษตรกรในพื้นที่ กรมการข้าว กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงจังหวัดพัทลุง ตลอดจนโรงสีข้าว และได้เข้าร่วมโครงการสตาร์ทอัพ ราชมงคลธัญบุรี โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ด้าน นายโกศล เดชสง ผู้จัดการ หจก.โกศลธัญญกิจ กล่าวว่า การทำนาข้าวอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาปรับปรุงดินในนา 2-3 ปีก่อนปลูก มีการ ตรวจสอบคุณภาพดินอย่างต่อเนื่อง เมื่อปลูกแล้วต้องติดตามและตรวจสอบเพื่อควบคุมมาตรฐานการผลิตข้าวร่วมกับคณะ ทำงานในโครงการ ขณะเดียวกันโรงสีข้าวต้องได้มาตรฐาน มีการนำเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาเสริมและได้รับการรับรองอีกด้วย

C-170412011129

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]