เป็นเวลาประมาณ11 วันที่ 5 ศิลปินร่วมสมัยได้วาดภาพแนวกราฟฟิตี้แสดงความอาลัยบนผนังอาคารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสม เด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโครงการ “ภาพเขียนผนังอาคารเพื่อถวายความอาลัยและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9” ผลงานดังกล่าวได้เสร็จสิ้นไปเมื่อคืนวันที่ 11 เมษายน 2560 และถ้าคิดตามสากลก็คือ ย่างเข้าวันที่ 12 เมษายน 2560
ความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้เวลาใครที่ผ่านไปย่านปทุมวัน หรือสยามสแควร์ ก็จะเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 สูงเท่าตึก 12 ชั้น ตั้งตระหง่าน หรือแม้แต่จะอยู่ในระยะไกลก็สามารถเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ได้ ภาพผลงานครั้งนี้เป็นของ 2 ศิลปินผู้เชี่ยวชาญศิลปะแนวสตรีท อย่าง ดนัยพัฒน์ เลิศพุทธตระการ และคเณศ นิ่มวัฒน์ ได้นำทีมนักศึกษาจาก 5 สถาบัน สร้างสรรค์ผลงานโดยใช้เทคนิค Wheat Pasting หรือเทคนิคแปะกระดาษ
อภินันท์ โปษยานนท์ กรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ กล่าวว่า โครง การ “น้อมรำลึกองค์อัครศิลปิน” เพื่อน้อมรำลึกพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้จัดทำภาพกราฟฟิตี้ของศิลปินร่วมสมัยที่ด้านหน้าอาคารหอศิลป์ ฝั่งตรงข้ามศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ไปแล้ว ครั้งนี้ก็ได้เปิดตัวภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ขนาดใหญ่บนผนังอีกเช่นเคย ที่เป็นการร่วมมือร่วมใจกันจากศิลปินอาชีพ 5 ทีมคือ Mue Non, Kaneat, กิตติ นนโท, TK31, ABI และนักศึกษาจาก 5 สถาบัน ได้แก่ ม.ศิลปากร วิทยาลัยช่างศิลป วิทยาลัยเฉพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมทั้งสิ้นกว่า 200 คน ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง ร.9 ขนาดใหญ่ ประมาณ 34×25 เมตร หรือขนาด 850 ตารางวา สูงเท่าตึก 12 ชั้น ด้วยเทคนิคที่เรียกว่าแปะติดกระดาษ (Wheat Pasting หรือ Put up) ถือเป็นเทคนิคใหม่ที่ศิลปินแนวสตรีทนิยมใช้กัน คือการปะติดภาพจากกระดาษที่มีขนาดใหญ่บนผนังอาคาร ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา แต่เริ่มติดตั้งไปช่วงวันที่ 1 เม.ย. จนกระทั่งล่าสุดเสร็จสิ้นเมื่อช่วงเวลาประมาณ 02.00 น.ของเช้าวันที่ 12 เม.ย.
อภินันท์กล่าวต่อว่า ภาพที่แสดงอยู่นี้เป็นภาพเมื่อครั้งพระองค์เสด็จประพาสยุโรปประมาณปี พ.ศ.2506 เป็นภาพที่ถ่ายที่กรุงปารีส โดยช่างภาพชาวฝรั่งเศส ซึ่งก่อนจะดำเนินการ คณะกรรมการได้ลงความเห็นว่าภาพนี้สวยงาม เหมาะที่จะนำไปติดตั้งบนผนัง ส่วนการทำงานลักษณะภาพขนาดใหญ่แบบนี้ อาจจะมีขั้นตอนการทำที่ยากง่ายแตกต่างกันไป แต่ศิลปินทุกคนก็มีความมุ่งมั่นที่อยากจะทำภาพนี้ให้เสร็จสมบูรณ์และสวยงาม เพราะการทำบนผนังอาคาร ด้วยความที่เป็นเทคนิคการปะติดกระดาษด้วยกาว พื้นของผนังก็ไม่ได้ราบเรียบ เหมือนการทำงานก็ไม่ได้ราบเรียบไปเสียทุกอย่าง แต่ศิลปินทุกคนทำงานร่วมกันโดยแก้ปัญหาอุปสรรคได้อย่างมืออาชีพ ซึ่งเป็นที่น่าดีใจ ตอนแรกมีความกังวลว่าฝนจากพายุฤดูร้อนอาจจะเป็นอุปสรรคในการทำงาน แต่โชคดีที่ไม่มีฝน การทำงานที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุน ทั้งทางกรุงเทพมหานคร ที่สนับสนุนเรื่องของกระเช้า เครน ผู้สนับสนุนสี กระดาษ ฯลฯ คาดว่าจะแสดงไปตลอดทั้งปี 2560
“ได้มีการทดสอบมุมภาพแล้วว่า จุดที่จะเห็นภาพสวยงามคือบริเวณลานหน้าศูนย์การค้ามาบุญครอง ฝั่งตรงข้ามหอศิลป์ และบริเวณด้านบนของศูนย์การค้าจะมองเห็นภาพชัดเจนและโดดเด่น และการถ่ายภาพมุมสูงจะได้ภาพที่สวยงามมาก ซึ่งตรงกับจุดประสงค์ของเราที่อยากจะให้คนที่ผ่านไปมาบริเวณนี้ได้เห็น เชื่อว่ามีเยอะมากที่เขาเดินทางมาแล้วจะได้เห็น ได้ชมภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง ร.9 และได้มาถ่ายภาพ มีความรู้สึกดีๆ กับภาพนี้ ซึ่งเราก็ได้เช็กว่าภาพนี้เป็นภาพที่ใช้เทคนิคแปะติดกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในโลก และทำยาก ไม่ค่อยมีคนทำ เพราะหลายๆ ที่ใน กทม.มีรูปติดผนังอาคารสวยงามมาก เรียบสวยมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นอิงค์เจ็ต และนี่ถือเป็นภาพผนังอาคารที่ทำด้วยมือของศิลปินล้วนๆ” อภินันท์กล่าว
ด้านนายคเณศ นิ่มวัฒน์ หรือ Kaneat หนึ่งในศิลปินผู้ร่วมสร้างสรรค์ภาพ เผยความรู้สึกว่า เป็นความภาคภูมิใจของศิลปินทุกคนอยู่แล้วที่ได้ร่วมกันทำงาน ซึ่งศิลปินก็คือคนกลางผู้มีหน้าที่เชื่อมโยงงานศิลปะเข้าหาประชาชน ทำกันอย่างมุ่งมั่นจนกว่าภาพจะเสร็จสมบูรณ์ โดยรวมแล้วใช้เวลาในการทำประมาณ 2 เดือน เริ่มตั้งแต่การนำภาพมาดราฟต์ หรือทำเป็นภาพขนาดเล็กก่อน แล้วนำไปขยายแบบให้ใหญ่ขึ้น ทำเป็นชิ้นๆ กว่า 50 ชิ้น ขนาดความยาว 17 เมตร ให้นักศึกษาช่วยกันระบายสีข้างล่าง แล้วค่อยนำมาติดด้านบนอาคาร ให้ต่อเรียงกันแต่ละแผ่นขึ้นไปตามผนัง ถือเป็นขั้นตอนยากสุดกว่าจะติดได้ พอติดเสร็จก็ใช้กาวลาเท็กซ์เคลือบ เทคนิคนี้อยู่ได้ประมาณ 5 ปี ติดเสร็จก็ลงสีเพิ่มเติม ใช้เวลาติด 12 วัน ถ้าเดินผ่านมาแล้วจะเห็นว่าภาพไม่ได้เรียบทั้งหมด ด้วยความที่เป็น กระดาษ แต่บริเวณไม่เรียบนั้นคือเสื้อของพระองค์ ซึ่งอยากจะทำให้เสมือนจริง เทคนิคนี้คล้ายกับภาพโมเสก แต่มีขนาดใหญ่กว่า โดยรวมก็คล้ายกับวอลเปเปอร์ มีการลงสีให้น้ำหนักโทนอ่อนเข้ม ก็หวังว่าภาพนี้จะได้รับความสนใจ เพียงแค่คนผ่านไปมาเห็นแล้วรู้สึกประทับใจ หยิบกล้องมาถ่าย ในฐานะศิลปินผู้สร้างสรรค์ก็รู้สึกดีแล้ว