โยคะ เปลี่ยนคุก เปลี่ยนคน

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560
สลัดภาพจำเดิมๆ ของเรือนจำในอดีต เมื่อชีวิตมนุษย์มีความมหัศจรรย์เกินกว่าจะถูกลดทอนให้ไร้ค่า และถูกทำลายศักยภาพด้วยประสบการณ์อันเลวร้ายใน “คุก”
สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “โยคะ” นั้นเปลี่ยนชีวิตคนมาแล้วนับ ไม่ถ้วน แม้แต่ผู้ต้องขังที่ถูกพรากอิสรภาพในรั้วเรือนจำหลายชีวิต ได้กลับมาตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองอีกครั้ง เมื่อพื้นที่แห่งการลงโทษถูก ปรับเปลี่ยนด้วยวิธีคิดใหม่แทนที่จะมุ่ง ลงทัณฑ์เปลี่ยนมาเป็นการฟื้นฟู “การฝึกโยคะทำให้ลืมหมดทุกเรื่องหนูเอาความเจ็บปวดทั้งหมดทิ้งลงที่เสื่อโยคะ เล่นหนักๆ ให้เหนื่อยจนเหงื่อออก มันจะเริ่มผ่อนคลาย จากเดิมที่เคยอารมณ์ร้อน มีเรื่องกันทุกวัน ก็เริ่มที่จะจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น” หญิง อดีตผู้ต้องขังเรือนจำกลางอุดรธานีที่ชีวิตเปลี่ยนไปเพราะ “โยคะ” บอกเช่นนั้น
โครงการโยคะในเรือนจำ เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการวิจัยปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย โดยการริเริ่มของ ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัยคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.) ซึ่งเป็นทั้งผู้รับผิดชอบโครงการและครูสอนโยคะให้กับบรรดาผู้ต้องขังหญิง โดยเริ่มนำร่องครั้งแรกในปี 2554 ที่เรือนจำกลางราชบุรี จนสามารถยกระดับเป็นศูนย์กลางในการฝึกครูโยคะให้กับเรือนจำอื่นๆ โดยมีเรือนจำอุดรธานีส่งผู้ต้องขังมาอบรมเป็นครูโยคะรุ่นแรกๆ “ตอนนั้นคิดในใจว่าเขาคงจะส่งหนูไปดัดสันดานมากกว่า” หญิง เล่าย้อนถึงความรู้สึกตอนที่ได้รับคัดเลือกให้มาเก็บตัวฝึกโยคะที่ราชบุรี เส้นทางก่อนก้าวเข้าสู่เรือนจำของหญิงไม่ต่างจากหลายๆ คนที่เคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน เมื่อถูกตัดสินลงโทษจากคดียาเสพติด จึงเข้ามาอยู่ในคุกแบบยอมรับสภาพ ชีวิตของหญิงไม่เคยมีเป้าหมาย ไม่เคยมีความอดทน มีแต่ใช้เงินที่แม่ฝากมาให้ซื้อของกินหมดไปวันๆ ต่อให้ติดคุกกี่ปี หญิงบอกว่า ชีวิตของเธอก็คงวนเวียนอยู่แค่นี้ นิสัยเดิมไม่ได้เปลี่ยน เพียงเพราะถูกควบคุมด้วยการบังคับ
“ตอนมาฝึกโยคะที่ราชบุรี ต้องฝึกหนักมาก บางคืนนอนร้องไห้ ยากที่สุดคือช่วงแรกๆ เพราะกล้ามเนื้อเรายังไม่ยืด เวลาฉีกขาแต่ละทีรู้เหมือนเหมือนกล้ามเนื้อขาแทบจะฉีก ต้องกินยาคลายเส้นตลอด ทั้งเหนื่อย ทั้งเจ็บ และท้อ ตอนนั้นทุกคนถอดใจหมด ไม่อยากเล่นแล้ว แต่พอเห็นหน้าอาจารย์แล้ว เรารู้สึกว่าจะยอมแพ้ถอดใจไม่ได้”
หญิง เล่าว่า จากที่ไม่เคยรักตัวเอง ไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าตัวเองมีคุณค่าพอที่จะมีสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต เพราะเคยเจอแต่การบังคับ เจอเจ้าหน้าที่ที่ไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยให้ใจ แต่พอมาเจออาจารย์ธีรวัลย์ ซึ่งให้ความรัก ความเอาใจใส่ดูแล มองเห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในตัวเธอ จึงทำให้เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และเริ่มมีเป้าหมายในชีวิต อยากเอาชนะคนที่เคยดูถูกว่า เราเป็นได้แค่ขยะสังคม เป็นคนเลวถึงต้องมาอยู่ที่นี่ ปัจจุบันหญิงพ้นโทษออกจากเรือนจำมาตั้งหลักชีวิตใหม่แล้ว เธอหันมายึดอาชีพครูสอน และแสดงโยคะให้กับนักท่องเที่ยวที่พัทยา เป้าหมายในอนาคต เจ้าตัวฝันไว้ว่าอยากเก็บตังค์สักก้อนเพื่อเปิดสตูดิโอโยคะของตัวเอง และมองความเป็นได้ที่จะย้ายไปอยู่กับแฟนชาวสวิสเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตเป็นครูสอนโยคะที่โน่นเปลี่ยนคนด้วยหัวใจ
กิจกรรมโยคะในเรือนจำ นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างรูปธรรมที่สะท้อนถึงการปรับเปลี่ยนฐานคิด ด้วยแนวทางในการเปลี่ยนพื้นที่จากการลงทัณฑ์ให้เป็นชุมชนแห่งความห่วงใย โดยเบื้องหลังความสำเร็จมาจากจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดี เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน
อาจารย์ธีรวัลย์ เจ้าของแนวคิดนี้เล่าว่า ช่วงแรกๆ ของการเข้าไปทำกิจกรรมโยคะในเรือนจำ การทำให้ผู้ต้องขังยอมรับในตัวผู้สอนไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าอยากได้ใจจากผู้ต้องขังก็ต้องเอาใจของเราไปแลกก่อน เทคนิคสานสัมพันธ์เล็กๆ ของอาจารย์ เริ่มด้วยการแอบหยิบผลไม้ที่เรือนจำนำมาเลี้ยงวิทยากร หยิบใส่กระเป๋าไปแบ่งกันกินกับผู้ต้องขัง “เราจะไม่ทำตัวว่าเราเป็นวิทยากรแต่จะทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกัน ทำให้เขายอมรับว่า เราคือคนที่พร้อมแบ่งปันความรู้สึกร่วมกันกับเขา” คีย์สำคัญของการเปลี่ยนแปลงผู้ต้องขังจากภายใน จึงไม่ได้อยู่ที่ตัวกิจกรรมโยคะเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอยู่ที่หัวใจของครูผู้สอนสะท้อนจากบทเรียนที่ผ่านมา จะเห็นว่าเรือนจำหลายแห่งมีการตั้งงบจ้างครูมาสอนกิจกรรมโยคะแต่ไม่ได้เอาวิธีคิดไปด้วย การใช้แต่อำนาจอย่างเดียว ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผู้ต้องขังได้เท่ากับการสร้างความสัมพันธ์ “ความยากจึงอยู่ที่ตัวผู้บังคับบัญชาเรือนจำ หัวหน้าแดนหญิง และตัวเจ้าหน้าที่ ว่าจะมีความเข้าใจ และเห็นความสำคัญมากน้อยแค่ไหน ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแนวคิดบางเรือนจำเอาแต่ครูเข้าไปสอน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเขาไมได้มีความผูกพันกับผู้ต้องขังซึ่งส่วนใหญ่ทุกคนมีความเศร้า ความเหงา การจะเปิดใจต้องทำให้เขายอมรับว่าเรามีความห่วงใยให้กับเขา มีอะไรสามารถพูดคุยกันได้” อาจารย์ธีรวัลย์ ย้ำ เบื้องหลังกำแพงสูงในเรือนจำ ผู้ต้องขังหญิงจำนวนมากที่รู้สึกว่า ตนเองไร้ค่า ไร้อำนาจ และไร้ตัวตน เป็นเพียง “สิ่งมีชีวิตที่ถูกให้เดินไปตามเส้นทางที่ผู้คุมกำหนดให้เดิน” เรือนจำจึงไม่เพียงควบคุมผู้ต้องขังแค่ทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าไปควบคุมผู้ต้องขังในระดับของจิตวิญญาณอีกด้วย เหตุนี้กิจกรรมที่ไม่สามารถเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับของจิตวิญญาณจึงยากที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการมองตนเองของผู้ต้องขัง
โยคะ จึงนับเป็นกิจกรรมทางเลือกที่เข้ามาตอบโจทย์ด้วยแนวคิดที่เชื่อว่า สุขภาพเป็นเรื่องของร่างกาย ความเยือกเย็นเป็นเรื่องของจิตใจความสงบเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ การฝึกโยคะช่วยสร้างพลังแห่งตัวตนให้กับผู้ต้องขังที่เคยเฉยชา สิ้นหวัง ยอมแพ้กับชีวิต ไม่มีแม้แต่ความปรารถนาที่อยากจะมีสุขภาพแข็งแรงค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่การรู้จักดูแลตนเองทำให้ผู้ต้องขังได้ตระหนักว่าสามารถจัดการให้ร่างกายเป็นอย่างที่ต้องการได้ โดยเฉพาะการทำให้ตนเองแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
“โยคะฝึกให้เรามีความอดทน ใจเย็น และมีพลัง มีความรู้สึกผ่อนคลาย เมื่อมารู้จักโยคะ โยคะให้อะไรกับเราเยอะ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ใจเย็น และร่าเริง ทำให้รู้จักคำว่า เพื่อน และสิ่งที่ลืมไม่ได้คือ โยคะทำให้เรารู้ตัวเองว่าเรามีพลังจริงๆ” ตัวอย่างเสียงสะท้อนจากผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกฝนจนกลายเป็นครูโยคะ
นอกจากนี้ ยังมีผู้กล่าวว่า โยคะทำให้สุขภาพดีขึ้น ร่างกายมีความยืดหยุ่น กล้ามเนื้อแข็งแรงในช่วงที่มีความเครียด การกำหนดลมหายใจช่วยให้ผ่อนคลายได้มากขึ้นผู้เล่นหายจากอาการปวดศีรษะ ความโกรธ ความเครียด ความเหงา ขาดความมั่นใจทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น
อาจารย์ธีรวัลย์ เล่าว่านอกจากการพัฒนาสุขภาพในองค์รวม โยคะยังมีบทบาทในการสร้างภาพลักษณ์ของใหม่ของเรือนจำที่มีความหมาย เพราะสังคมไทยยังมีมายาคติเกี่ยวกับผู้ที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เมื่อพ้นโทษยังคงถูกมองว่าเป็นบุคคลอันตราย ไม่น่าไว้วางใจ แนวคิดนี้จึงเป็นที่มาของการนำโยคะในเรือนจำก้าวสู่เวทีการแข่งขันนานาชาติ ในปี 2558 จนความสามารถของผู้ต้องขังหญิงเป็นที่ประจักษ์ สามารถคว้าทั้งเหรียญรางวัลและนับเป็นครั้งแรกที่ได้ร้องเพลงชาติไทยในเวทีโยคะนานาชาติ
นอกจากนี้ ยังมีการนำโยคะในเรือนจำเสนอผ่านพื้นที่โลกออนไลน์ผ่านคลิปในยูทูบ ล่าสุด คือการจัดทำปฏิทินปี 2560 เพื่อสร้างแบรนด์โยคะในเรือนจำจุดประสงค์เพื่อทำให้โยคะในเรือนจำมีคุณค่าในเชิงสัญลักษณ์ในสังคมเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสังคมกับเรือนจำผ่านการให้ความหมายที่แตกต่างไปจากภาพของเรือนจำในแบบเดิมเป็นการสื่อความหมายให้คนในสังคมตระหนักถึงความสามารถผู้ต้องขังหญิงปรับเปลี่ยนการรับรู้ภาพตัวแทนของเรือนจำ ในฐานะของพื้นที่ที่ไม่มีคุณค่า เป็นพื้นที่ของการลงโทษที่คนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ภาพผู้ต้องขังในเรือนจำกลางอุดรธานีที่แสดงโยคะท่าต่างๆ อย่างสวยงามในมุมต่างๆ ของพื้นที่เรือนจำไม่ว่าจะเป็น เรือนนอน ที่อาบน้ำ ฯลฯ สร้างภาพอันแปลกใหม่และโดดเด่นของเรือนจำ จากพื้นที่แห่งการลงโทษ สู่ชุมชนแห่งความห่วงใย
“เมื่อคนๆ หนึ่งถูกตัดสินถูกจำคุก นั่นถือเป็นการลงโทษที่ทำให้ทุกข์ทรมานใจอยู่แล้ว เพราะต้องสูญสิ้นอิสรภาพทุกอย่างที่เคยได้รับ จึงไม่จำเป็นต้องลงโทษเพิ่มอีกด้วยการลดทอนความเป็นมนุษย์ไปจากพวกเขา แต่ชีวิตภายในเรือนจำควรเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้ต้องขังได้เยียวยา
ฟื้นฟูได้มีโอกาสในชีวิต” รศ.ดร.นภาภรณ์หะวานนท์ นักวิชาการอิสระตัวจริงเสียงจริงที่ทำงานวิจัยร่วมกับผู้ต้องขังหญิงมานานหลายปี กล่าว
เพราะแม้จะเป็นผู้ต้องขัง แต่ก็ยังเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สมควรได้รับการดูแลตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ทิศทางใหม่ของการพัฒนาเรือนจำจึงต้องมุ่งสู่การฟื้นฟูแทนการลงทัณฑ์เปลี่ยนเรือนจำจากการเป็นสถาบันเพื่อการลงโทษ (Penal Institution) ไปสู่การเป็นชุมชนแห่งความห่วงใย (Caring Community) โดยการสร้างความสัมพันธ์อันดีในเรือนจำเสมือนเป็นคนในครอบครัว หรือชุมชนเดียวกัน ทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกมีความมั่นคงปลอดภัย เห็นใจและไว้วางใจซึ่งกันและกัน คำถามว่าทำอย่างไรสิ่งเหล่านี้จึงจะเกิดขึ้นได้นำมาสู่การนำร่องโครงการวิจัยปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใยโดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำร่องพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ 2 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางราชบุรี และเรือนจำกลางอุดรธานี ขับเคลื่อนสู่การเป็นเรือนจำสุขภาวะผ่าน 5 โครงการที่สำคัญ ได้แก่ การจัดบริการทันตสุขภาพเชิงรุก,การสร้างสุขภาพแบบองค์รวมผ่านการฝึกโยคะ, การสร้างพลังชีวิตผ่านการทำงานที่มีคุณค่า, การสร้างความสุขผ่านการปลูกผักและต้นไม้ และการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของเรือนจำ ผ่านการนำเสนอความสามารถ และผลงานของผู้ต้องขัง “มีคำพูดหนึ่งที่ประทับใจจากผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการปลูกผักว่า เขาไม่ได้กลิ่นผักมาหลายปี พอได้กลิ่นผักแล้วคิดถึงบ้านเราถือว่าสิ่งเหล่านี้มันช่วยสร้างความละเอียดอ่อนขึ้นในจิตใจของเขา เช่นเดียวกับการทำงานสร้างสรรค์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นถักไหมพรม ทำเทียนหอม สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้ต้องขังได้ตระหนักถึงพลังความสามารถของตนเอง ขณะเดียวกัน ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างปฏิสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขัง การพยายามสร้างสรรค์พื้นที่ชุมชนแห่งความห่วงใยขึ้นในเรือนจำ ไม่ว่าจะผ่านกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ มันสามารถเปลี่ยนโลก เปลี่ยนชีวิตผู้คนให้ดีขึ้น แม้จะต้องเป็นผู้ต้องขัง ชีวิตก็สามารถมีประสบการณ์เชิงบวกได้” นักวิชาการด้านเรือนจำสุขภาวะ กล่าว
ตราบใดที่เรายังเชื่อมั่นในสังคมแห่งการให้โอกาส และให้อภัย ภายใต้ตัวตนของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะผ่านอะไรมาก็ตาม ด้วยความรัก และความห่วงใย ยังคงสามารถเยียวยาหัวใจให้ยืนหยัดขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง
C-170418011037

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]