ลูก “บัวสวรรค์” ใช้เทคนิคชีวภาพยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาตามรอย “ศาสตร์พระราชา”

เป็นอีกหนึ่งสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าถึงชุมชนอย่างสม่ำเสมอ
ล่าสุดฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ธัญบุรี หรือ “บัวสวรรค์” ได้จัดกิจกรรม โครงการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของนักศึกษาในศตวรรษที่ 21 : ตามรอยวิถีเกษตรชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ณ หมู่ที่ 7 ต.บึงกาสาม อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี เพื่อพัฒนาด้านสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนด้วยการใช้เทคนิคทางชีวภาพในการแก้ปัญหาการเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          กิจกรรมจ๊าบๆแบบนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร “นายว้าก” ไม่พลาดที่จะไปถามไถ่หัวเรือใหญ่ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ที่เล่าว่า “มหาวิทยาลัยมุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพบนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำองค์ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ไปถ่ายทอดให้กับชุมชน ซึ่งก็คือสังคมของประเทศ โดย มหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้แต่ละคณะลงพื้นที่เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิจัยและนวัตกรรมให้กับชุมชนเพื่อยกระดับชุมชนนำองค์ความรู้ที่เกิดจากงานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาไปต่อยอดขณะที่นักศึกษาที่เข้าร่วมก็จะเกิดจิตวิญญาณของความเอื้ออาะทรต่อสังคมทั้งได้พัฒนา Soft Skill แบบถาวรด้วย”
ขณะที่นาย เล็ก พวงต้น เกษตรชุมชน หมู่ 7 ต.บึงกาสาม บอกเล่าด้วยความอิ่มเอมใจว่า “ผมคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้มีรายได้ พอกินพอใช้ ไม่สร้างหนี้มีเงินใช้เหมือนตอนที่รับเงินเดือนข้าราชการ โดยแรงบันดาลใจ คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อหลวงของคนไทยทั้งแผ่นดิน เมื่อครั้งได้เดินทางไปดูงานในโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จึงนำศาสตร์พระราชามาเป็นจุดเริ่มต้นในการบริหารจัดการประยุกต์พื้นที่ 50 ไร่ นำเกษตรอินทรีย์เข้ามาใช้ แรกๆที่ทำอาจจะเห็นผลช้า แต่ดีกับธรรมชาติ และจากการหาข้อมูลพบว่าคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมทร.ธัญบุรี มีการนำชีวภาพมาใช้จึงได้ทำเรื่องไปที่มหาวิทยาลัย ซึ่งอาจารย์และทีมงานได้ลงพื้นที่สำรวจและเข้ามาทำวิจัยและทดลองนวัตกรรมชีวภาพจากความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้ในนาข้าวและปาล์ม รวมถึงมาบริการองค์ความรู้ให้กับศูนย์การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต้องขอบคุณมทร.ธัญบุรี ที่ได้สร้างองค์ความรู้ รวมถึงอาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่ได้ให้ความช่วยเหลือ ทำให้นักศึกษาได้เห็นวิถีชีวิตชาวนา และเกิดจิตสำนึกที่ดีต่อเกษตรกร”
หันมาฟังเสียงบรรดาวัยโจ๋ดีกรีผู้นำนักศึกษาที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันบ้างเริ่มที่ “ชะเอม” ประภาภรณ์ จงเจริญชัยสกุล ปี 3 สาขาวิชาคณิตศาสตร์ บอกว่า “ชะเอมมีหน้าที่ในการจัดเตรียมอุปกรณ์และดูแลนักศึกษา ในการลงพื้นที่ ต.บึงกาสาม เรียนรู้วิถีชาวนา ทั้งได้เข้าไปช่วยอาจารย์สาขาวิชาชีววิทยาทำปุ๋ยจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรามาใช้แทนปุ๋ยเคมีตามศาสตร์พระราชา ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมหว่านปุ๋ยทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรม คือการถอดบทเรียน มีการระดมความคิดร่วมกัน ได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ 10 คน 10 ความคิด แตกต่างกันออกไปดีใจ ที่ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมดีๆแบบนี้เพราะ ถ้าไม่ใช่ลูกชาวนาก็คงไม่ได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวนาขนาดนี้”
เช่นเดียวกับหนุ่มมาดเข้ม “บี” เบญจพล ประมวลทรัพย์ ปี 3 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ร่วมแจมว่า “อยากนำความรู้ด้านคอมพิวเตอร์เข้าไปช่วยชาวนา เช่น ความรู้สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ องค์ความรู้ในการทำนาเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น การได้ลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่มีในบทเรียนให้ผมได้เรียนรู้ทำให้ได้เห็นต้นข้าวในทุ่งนา ได้เห็น ปุ๋ยที่ใช้ในการทำนา ได้ช่วยชาวนาหว่านปุ๋ย รู้เลยว่าชาวนาลำบากทำให้เราเห็นคุณค่าของข้าวและชาวนามากขึ้น”
ส่วนเฟรชชี่สาวร่างเล็ก “ปิ่นโต” พรรณพร เฉลยจิตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ ส่งเสียงดังฟังชัดว่า “การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้เรียนรู้ “ศาสตร์ของพระราชา” อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ลงพื้นที่ในการวิจัยจากดินในพื้นที่ที่เป็นกรด นำปุ๋ยที่ได้คิดค้นมาช่วยเหลือชาวบ้าน อาจารย์บอกว่าสัดส่วนของปุ๋ยใช้วิชาคณิตศาสตร์ในการคิดคำนวณสูตรของปุ๋ยตลอดจนการใช้พืชช่วยพืช ถือเป็นการเดินตามรอยรัชกาลที่ 9 มาช่วยส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้อยู่อย่างพอเพียงนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข”
ขณะที่หนุ่มหน้าละอ่อน “เซ้นซ์” ก้องปภณ สังข์รุ่ง เฟรชชี่หนุ่ม สาขาวิชาสถิติประยุกต์ ยิ้มก่อนบอกว่า “การได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ดีมากๆ ได้เห็นว่ากว่าจะได้ข้าวมากินกันนั้น ชาวนาต้องเหนื่อยมากตอนเด็กๆผมได้ไปวิ่งเล่นที่ทุ่งนาของคุณตา ที่จังหวัดปราจีนบุรี แต่ไม่เคยทำนา พอได้เห็นและได้ลงมือทำนาของจริงจึงได้รู้ว่าเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความอดทนสูงมาก และรู้สึกดีที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ชาวชุมชนพื้นที่บึงกาสามได้เป็นชุมชนต้นแบบที่มีการทำนาเกษตรอินทรีย์ด้วย”
ปิดท้ายที่ “ไออ้อน” สิริรักษ์ บุญมา เฟรชชี่สาวสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า “ไออ้อนเป็นลูกชาวสวนที่จังหวัดขอนแก่นเคยช่วยยายใส่ปุ๋ยผักหลังบ้าน เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้ช่วยหว่านปุ๋ยให้กับชาวบ้านถือเป็นจิตอาสาที่ดีอย่างหนึ่งได้รับรู้และเข้าใจความรู้สึกของชีวิตชาวนาต้องทำนาตากแดด ทั้งยังได้รับความรู้จากวิทยากรอีกด้วยซึ่งถ้ามีกิจกรรมอีกจะเข้าร่วมแน่นอน”
เห็นบรรดาวัยโจ๋มีจิตสาธารณะ รวมถึงรักที่จะเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนา ที่สำคัญพร้อมที่จะนำประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้ดีขึ้นด้วยแล้ว “นายว้าก” ขอปรบมือเป็นกำลังใจให้ดังๆ
อย่างน้อยก็ดีกว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้หลายๆคน ที่ได้แต่คิดทำให้บ้านเมืองวุ่นวายไม่รู้จักจบจักสิ้นเสียที…!!!

C-170423009055

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]