
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560
มทร.ธัญบุรีพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากบ่อน้ำร้อนกันตัง พร้อมถ่ายทอดความรู้ ธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในชุมชน เผยได้รับเครื่องหมาย BIO Economy และการรับรองจาก อย.
นายไฉน น้อยแสง ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผย ว่า วิทยาลัยฯ ได้พัฒนาชาชงสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยร่วมกับศูนย์พัฒนายาไทยและ สมุนไพร สถาบันแพทย์แผนไทย ในการสร้างมูลค่าเพิ่มทรัพยากรชีวภาพโดยเฉพาะพืชสมุนไพรให้กับแหล่งน้ำพุร้อน 7 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงวนอุทยานน้ำพุร้อนกันตัง จ.ตรัง โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำพุร้อนและสมุนไพรท้องถิ่น อาทิเช่น มังคุด ขมิ้น
ผลิตภัณฑ์จากน้ำพุร้อน ประกอบด้วย 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ โลชั่นบำรุงผิว ครีมนวดสปาตัว มาร์คโคลนและสเปรย์บำรุงผิวหน้า โดยได้ทดสอบการระคายเคืองและความปลอดภัยเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้บริโภค ทั้งยังประเมินความพึงพอใจที่จะช่วยยืนยันถึงประสิทธิภาพอีกด้วย
ทั้งนี้ พื้นที่วนอุทยานน้ำพุร้อนกันตังได้รับการพัฒนาเป็นบ่อน้ำพุ 3 บ่อ ซึ่งมีน้ำพุร้อน ประเภท Weak Alkaline Springs อุณหภูมิของน้ำประมาณ 70 40 และ 20 องศาเซลเซียส วัดค่าความเป็นกรดด่าง (pH) อยู่ที่ 7.1 มีปริมาณเกลือสูงมาก ซึ่งเกลือมีสรรพคุณ ในการรักษาโรคผิวหนัง และบริเวณบ่อน้ำร้อน มีสาหร่ายขึ้นจำนวนมาก จึงใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ปัจจุบันทางชุมชนได้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพบ่อน้ำร้อนกันตังขึ้น นำผลิตภัณฑ์ไปต่อยอด จัดสร้าง โรงเรือนผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์วารินคีรี สร้างรายได้ให้กับกลุ่มสมาชิก และทางทีมผู้วิจัยยังได้นำองค์ความรู้ทางด้านงาน บริการสปาเพื่อสุขภาพเข้าไปถ่ายทอด ให้กับกลุ่มวิสาหกิจฯ
เช่น ความรู้ทางด้านการทำการ ทำทรีทเม้นท์ การนวดสปาตัว การนวดเท้า การจัดบรรยากาศในสถานบริการสปา และได้เปิดบริการ สปาภายในวนอุทยาน น้ำพุร้อนกันตัง โดยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ถือเป็น การพัฒนา และสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ให้กับชุมชน
ด้านนางสาวสมสวย เวียงแก้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ กล่าวว่า ทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์ได้รับเครื่องหมาย BIO Economy และการรับรองจาก อย. ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมจากผู้ที่มาเที่ยวชมวนอุทยานฯ รวมไปถึงธุรกิจสปาที่มหาวิทยาลัยนำมาถ่ายทอดสร้างรายได้ประมาณเดือนละ 1 แสนบาท สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนในช่วงของราคายางพาราตกต่ำ เป็นความมั่นคงที่ยั่งยืนให้กับชุมชน ต้องขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามาให้องค์ความรู้กับทางกลุ่ม
C-170425011176