นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณสูงสุด ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อาจารย์และนักศึกษา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ในปัจจุบันดำเนินโครงการเกษตรผสมผสานในพื้นที่ส่วนพระองค์ 50 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่ฝึกทักษะประสบการณ์ของนักศึกษา วิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรสำหรับคณาจารย์ ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตสำหรับนักศึกษาและคณาจารย์
อาจารย์ปรีชา ลามอ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี หนึ่งในผู้รับผิดชอบโครงการในขณะนั้น เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นว่าการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ของเกษตรกรนั้น จำเป็นต้องศึกษาทดลองและประยุกต์ใช้วิทยาการสมัยใหม่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นนั้นๆ และเมื่อได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้วจึงเผยแพร่ส่งต่อไปยังเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เพื่อการนี้พระองค์พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อาจารย์และนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี ได้ใช้พื้นที่ส่วนพระองค์คลองพระยาบันลือ จ.พระนครศรีอยุธยา ทำโครงการเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและหาแนวทางในการประกอบอาชีพเกษตรกรในลักษณะของเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ซึ่งได้ประสานการทำงานกับนายกวี อังศวานนท์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ และนายอนิรุทธ์ ทินกร ณ อยุธยา ผู้จัดการส่วนงานบริหารโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ในขณะนั้น
“ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2542 อันเป็นมงคลที่ผม อาจารย์ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร ได้ลงพื้นที่เป็นครั้งแรก พบว่าเป็นพื้นที่ว่างเปล่า บางส่วนเต็มไปด้วยวัชพืช และมีอาคาร 2 ส่วนด้วยกัน คือ โรงสำหรับเก็บของ และพลับพลาที่ประทับ และได้จ้างคนในละแวกนั้นทำงานเพิ่มเติม แต่ยังไม่สามารถจัดการพื้นที่ได้ทั้งหมด จึงได้ขอพระราชทานรถแทรกเตอร์จากพระองค์ท่าน ซึ่งท่านก็ทรงเมตตาพระราชทานให้ 1 คัน สำหรับการปรับปรุงพื้นที่ เกลี่ยดินและใช้ทำการเกษตร” อาจารย์ปรีชาเล่าพื้นที่ส่วนพระองค์คลองพระยาบันลือแห่งนี้ เหมาะสมกับการทำการเกษตรแบบผสมผสานมากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือปลูกเพียงแค่ชนิดเดียวบนพื้นที่ทั้งหมด เช่น การปลูกแปลงผักคะน้า การทำไร่ข้าวโพด หรือไร่อ้อย เป็นต้น เพราะหากเกิดโรคระบาดหรือแมลงศัตรูพืชจะสร้างความเสียหายต่อพืชผลเหล่านั้นหมดทั้งแปลงหรือทั้งไร่ได้ อีกทั้งพื้นที่โดยรอบเป็นนาข้าว ผู้ทำนาข้าวส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้สารเคมีฉีดพ่นนาข้าว เพราะมีแมลงศัตรูพืชเยอะมากที่มากัดกินหรือทำลายต้นข้าว ทำให้แมลงศัตรูพืชเข้ามาในพื้นที่ส่วนพระองค์ ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายได้และอาจจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง ซึ่งส่งผลเสียต่อผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริโภคและระบบนิเวศ จึงเลือกทำโครงการเกษตรผสมผสาน แบ่งส่วนในพื้นที่เพื่อทำการเกษตร เช่น ส่วนของพืชไร่ พืชสำหรับอาหารสัตว์ ไม้ดอก ไม้ผล ไม้ประดับ แปลงผักและพืชสมุนไพรต่างๆ รวมถึงการเลี้ยงปลา
ภายในโครงการได้ทำการขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับกว่า 40,000 ต้น เช่น ต้นเทียนทอง ออมเงิน พลูทอง พลูมรกต เข็มเศรษฐีมาเลเซีย ใบเงินใบทอง แก้ว กาบหอยแครง เป็นต้น ส่วนพืชสมุนไพรได้มีการปลูกกว่า 1,000 ต้น จำพวกขมิ้นชัน ไพล เปราะหอม กระชายดำ และรางจืด ขณะที่ไม้ผลได้ปลูกทั้งกล้วย มะม่วง มะพร้าวน้ำหอม กระท้อน ขนุน ฝรั่ง เป็นต้น ส่วนผักที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นผักกวางตุ้ง คะน้า แตงกวา บวบ และปลูกผักหวานโดยการปลูกแซมในบางพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศึกษาการเจริญเติบโตของมะกอกน้ำมัน 4 สายพันธุ์จากประเทศสเปน คือ Arbequina Cornicabra Hojiblanca และ Manzanillo ซึ่งพบว่าทั้ง 4 สายพันธุ์นี้มีการเจริญเติบโตที่ใกล้เคียงกัน
จากนั้นได้แบ่งพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ขุดเป็นบ่อสำหรับเลี้ยงปลานิลประมาณ 30,000 ตัว โดยอาหารที่ใช้เลี้ยงนั้นมี 2 แบบ อย่างแรกคือ กากถั่วเขียวจากโรงงานที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้เป็นอย่างมาก และอาหารเม็ดทั่วไป ขณะเดียวกันยังเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังริมแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 9,000 ตัว และปลานิลแดง พันธุ์จากวิทยาเขตปทุมธานีและวิทยาเขตกาฬสินธุ์ รวมทั้งปลานิลจิตรลดา ซึ่งพบว่า ปลานิลที่เลี้ยงในกระชังริมแม่น้ำนั้นจะไม่มีกลิ่นดินกลิ่นคาว เวลานำไปประกอบอาหารเมื่อเทียบกับปลานิลที่เลี้ยงในบ่อดิน
ผลผลิตที่ได้จากโครงการ ทั้งพืชผัก ผลไม้ และปลาต่างๆ บางส่วนได้ส่งให้กับโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ อีกส่วนนำไปจัดจำหน่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อนำรายได้มาหมุนเวียนในโครงการต่อไป และอีกส่วนนำมาประกอบอาหารสำหรับนักศึกษาที่เข้าร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่ ส่วนพันธุ์ไม้ที่ขยายพันธุ์แล้วบางส่วนได้บริจาคให้กับหน่วยงานในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อนำไปใช้ตกแต่งสถานที่ต่อไป
“กว่า 10 ปี บนพื้นที่ของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นความภูมิใจของพวกเราชาวคณะเทคโนโลยีการเกษตร ที่ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้เข้าไปทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่ส่วนพระองค์ เป็นเกียรติอันสูงยิ่งแก่สถาบันการศึกษา และดีใจที่เกิดบนพื้นแผ่นดินไทย แผ่นดินของพ่อ” อาจารย์ปรีชากล่าวทิ้งท้าย