
ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
ความยุติธรรมทางอาญากับความยุติธรรมทางสังคม ผบ.เรือนจำอุดรธานียึดหลักบริหารให้ผู้ต้องขังทุกข์น้อยที่สุด ผ่อนสั้นผ่อนยาว มีจิตอาสาเข้ามาดูแลผู้ต้องขัง จัดกิจกรรมความเงียบมีเสียงได้ ระบายทุกข์ผ่านตู้แดงเพื่อแก้ไข นักจัดการชำนาญการเรือนจำกลางราชบุรี “เขามีทุกข์มา เราจะช่วยเหลือเขาในระดับหนึ่ง” เสียงจากอดีตผู้ต้องขังหญิงยึดอาชีพครูสอนโยคะ “เติบโตและกล้าแกร่งในเรือนจำ:พื้นที่ของความรักและความห่วงใย””เราเป็นผู้ต้องขังยังมีโอกาสดีในชีวิต ได้แสดงโยคะต่อหน้าพระที่นั่ง ทั้งๆ ที่เราเคยก้าวพลาดมาเยอะ ถือได้ว่าเป็นความโชคดีของตัวเอง” “การที่เราถูกตัดขาดจากโลกภายนอก อาจารย์เป็นใครมาจากที่ไหนก็ไม่รู้ แต่การที่อาจารย์หยิบยื่นรักและคอยสอนพวกหนูทั้งๆ ที่พวกหนูก็ไม่ใช่ลูกของอาจารย์”
การนำเสนองาน “เมื่อความยุติธรรมทางอาญาพบกับความยุติธรรมทางสังคม” เพียงใจ แสงวิจิตร ผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุดรธานี นำเสนอเรื่อง ก้าวสู่ชุมชนแห่งความห่วงใย ชุมชนอุดรธานี มีสมาชิก 4,200 คน เป็นผู้ต้องขังชาย 3,700 คน ผู้ต้องขังหญิง 500 คน กลุ่มผู้ต้องขังสูงอายุ พิการ ป่วยด้วยโรคจิตจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดนี้อยู่ในพื้นที่ 18 ไร่ เป็นปัญหาสากลของผู้ต้องขัง ต้องอยู่ในสถานที่แออัด ผู้เข้ามารับโทษไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว เราจะต้องปฏิบัติกับเขาเสมือนหนึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวของเรา ทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้ในขณะต้องโทษ ผ่อนสั้นผ่อนยาว
หลายๆ ท่านมีความสุขอยู่ในเรือนจำ มีคำถามว่าอยู่ในเรือนจำจะสุขอยู่ได้อย่างไร ทำอย่างไรจะทำให้เขามีความสุข สุขมากก็ไม่ใช่ แต่ทำให้เขาทุกข์น้อยที่สุด ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส ต้องให้ผู้ต้องขังได้รับความรู้มีประสบการณ์เติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต เมื่อเขาออกไปเผชิญกับโลกภายนอกสามารถปรับตัวเองได้ ดูแลทุกข์สุขการดำเนินชีวิตภายในกำแพงหรือนอกกำแพง ความต้องการเป็นปัจจัย 4 อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เรามีงบประมาณจำกัด เราต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักสากล ยึดหลักมนุษยธรรม ทำอย่างไรให้สมาชิกมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เติมเต็มให้ได้มากที่สุด การบริหารภายในของเรือนจำให้เป็นเรือนจำสุขภาวะ ในเรื่องกายภาพและสิ่งแวดล้อม สมาชิกอยู่ด้วยความรู้สึกที่จำเจ ทำอย่างไรที่จะสร้างความรู้สึกที่มีชีวิตชีวา กิจกรรมที่รองรับสมาชิกจำนวนมาก 10 ท่าพญายม ฝึกผู้ต้องขังออกกำลังด้วยการฝึกโยคะในเรือนจำเพื่อการมีสุขภาพที่ดี พี่สอนน้องในเรือนจำเขต 4 หนองบัวลำพู สกลนคร กาฬสินธุ์ ฝึกระเบียบวินัย การเข้าแถว มีแพทย์ล่วงเวลาเข้ามาดูแลรักษาผู้ต้องขัง มีพยาบาลประจำเรือนจำ
โรงพยาบาลอุดรธานี ส่งเสริมการป้องกันงานรักษาฟื้นฟู ตรวจสุขภาพ อบรมให้ความรู้ผู้ต้องขังเป็น อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อบรมพี่เลี้ยงดูแลผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต ต้องอยู่ในความดูแล มีจิตอาสาเข้ามาช่วยเหลือดูแลผู้ต้องขัง จัดหาอุปกรณ์ฟื้นฟูร่างกาย แพทย์ทางเลือก การรักษาด้วยสมุนไพร ที่ อ.ภูพาน สกลนคร มีผู้เข้าร่วม โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทีมงานฝังเข็มเข้ามาในเรือนจำ จัดกิจกรรมสายสัมพันธ์แม่-ลูกได้พบกัน 2 เดือน/ครั้ง เป็นการเยี่ยมกันอย่างใกล้ชิดทั้งครอบครัว รับประทานอาหารร่วมกัน สามารถสัมผัสตัว ได้ถ่ายทอดความห่วงใยต่อกัน คลินิกให้คำปรึกษาหวง ห่วง ผู้ต้องขังมีทุกข์เพราะสามีไปมีภรรยาใหม่ เราจะใช้คำพูดให้กำลังใจว่าเราน่าจะยินดีที่มีคนมาช่วยดูแลสามี แม้ในความเป็นจริงแล้วเราจะต้องเรียกความคิดที่ดีกลับคืนมาให้ได้ ทำอย่างไรให้เขาใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำโดยไม่ต้องกังวล บุตรที่อยู่ภายนอกไม่มีใครดูแลก็ต้องส่งนักสังคมสงเคราะห์ไปเยี่ยมเยียน สานสัมพันธ์ในครอบครัวให้ช่วยกันดูแลช่วยเหลือ
โครงการสร้างเสริมสุขภาพจิตในเรือนจำ สปสช.มีการเชิญ ศุ บุญเลี้ยง โค้ชนลินรัตน์ อมรภูวเศรษฐ์ มาสอนผู้ต้องขังหญิง สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับแดนหญิง มีการแสดงโยคะ วิทยากรถึงกับแสดงอาการแปลกใจ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีกิจกรรมโยคะในเรือนจำ อิจฉาผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ เหมือนกับว่าเข้ามาอยู่ที่นี่แล้วได้วิชาดีๆ ติดตัวกลับออกไป เห็นแววตาผู้ต้องขังแล้วมีความสุขทำให้หลายคนพลอยมีความสุขไปด้วย โครงการสรรพศาสตร์สมาธิ พัฒนาจิตใจให้เข้มแข็ง สงบ เกิดภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ ทุกข์หรือสุขอยู่ที่ใจ สิ่งแวดล้อมภายนอกเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ใจเราต้องเป็นสุขให้ได้ ความเข้มแข็งทางจิตใจ ทำอย่างไรที่จะทำใจให้รวดเร็วที่สุด สุขใจได้ก็ต้องมีการอบรมทางด้านคุณธรรมจริยธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรฯ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนวัดคำประมง
ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำส่วนหนึ่งขาดความรู้เรื่องกฎหมาย ก็เข้ามาศึกษาภายในเรือนจำ เมื่อมีวุฒิความรู้การประกอบอาชีพก็จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น การอบรมหลักสูตรต่างๆ วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยอาชีวศึกษา สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน วิชาการจัดดอกไม้ เสริมสวย เย็บผ้า ทำอาหารไทย เพื่อเพิ่มสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต ผู้ต้องขังบางคนที่ป่วยด้วยโรค HIV วัณโรคก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในเรือนจำก็ต้องรักษากันอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากเรือนจำมีวัฒนธรรมความเงียบ ทำอย่างไรให้ความเงียบมีเสียงได้ เป็นการระบายความทุกข์ บอกถึงความต้องการหรือขอรับความช่วยเหลือ มีตู้แดงรับฟังความคิดเห็น ผู้บัญชาการเรือนจำเป็นผู้ไขตู้แดง ขอบคุณสำหรับความไว้วางใจ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับความหวังและกำลังใจ “ผู้ต้องขังรอวันเปิดตู้แดงสัปดาห์ละครั้งทุกวันอังคาร แม้งานจะดึกดื่นแค่ไหนผู้บัญชาการเรือนจำก็ต้องไขตู้อ่านเพื่อนำมาปรับปรุงระบบการบริหารงาน” เรื่องความแออัดในเรือนจำเป็น 5 ก้าวย่างที่จะต้องมีการปรับปรุงงานราชทัณฑ์ สุขภาวะในเรือนจำ มีความเป็นอยู่ที่ดี มีระเบียบวินัย คนหมู่มากเหมือนกับเด็กนักเรียนประจำ ต้องมีการฝึกระเบียบวินัย ฝึกแถว การรับประทานอาหาร โครงการพัฒนาจิตใจ การสร้างสมาธิ การนำผู้ต้องขังออกไปบำเพ็ญประโยชน์เพื่อคืนกลับสู่สังคม เป็นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า สังคมไม่ทอดทิ้งเป็นกำลังใจสำคัญ ราชทัณฑ์ไม่สามารถทำงานสำเร็จได้ถ้าสังคมภายนอกไม่เปิดโอกาสช่วยเหลือผู้ต้องขัง
สุกัญญา จินดานุช นักจัดการชำนาญการเรือนจำกลางราชบุรี นำเสนอภาพความทรงจำของชุมชนแห่งความห่วงใย ณ เรือนจำกลางราชบุรี กล่าวว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จทรงเปิดโครงการกำลังใจในพระดำริ เพื่อแม่และเด็กในเรือนจำ ในฐานะของนักจัดการชำนาญการ ได้รับมอบหมายตั้งแต่ปี 2554 ให้ดูแลแดน 4 ราชบุรี ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย ที่นี่มีผู้ต้องขัง 4,000 คน เป็นผู้ต้องขังหญิง 1,000 คน การประชุมผู้ต้องขังหญิงเป็นการบอกให้รับรู้ ไม่ใช้การบังคับให้เขาทำตาม เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ สุรชัย พุ่มแก้ว เป็นผู้บัญชาการเรือนจำกลางราชบุรี จะต้องมีการปรึกษาร่วมกันในการดูแลผู้ต้องขังหญิงที่เรียนโยคะ ทั้งนี้จะต้องแยกจากผู้ต้องขังหญิงทั่วไปเพื่อจะได้ฝึกซ้อมโยคะอย่างหนัก เนื่องจากอาจารย์ที่เข้ามาสอนโยคะในเรือนจำต้องเดินทางมาไกลจึงต้องให้เวลาฝึกฝน เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ต้องขังที่เลือกฝึกโยคะอย่างเต็มที่
การทำงานในเรือนจำราชบุรี เจ้าหน้าที่ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน “เขามีทุกข์มา เราจะช่วยเหลือเขาในระดับหนึ่ง” การทำผิดกฎหมาย ถูกจองจำ ผู้ควบคุมดูแลก็ต้องให้เขามีความสุข ไม่สร้างปัญหา เราต้องให้โอกาสผู้ต้องขังเข้าพบ กำหนดให้ผู้ต้องขังเข้าใหม่มาอยู่กับเรา ให้เขาติดต่อกับเครือญาติ หากมีเรื่องด่วนก็สามารถจัดให้เข้าพบได้ กลุ่มผู้ต้องขังที่เรียนโยคะให้เขาแสดงความสามารถของตัวเอง ปรับตัวที่จะอยู่ในสังคมภายนอกหลังจากที่ออกจากเรือนจำ เจ้าหน้าที่เรือนจำ 5 คนก็ฝึกโยคะด้วย เพื่อให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ก็ให้ความสนใจด้วย
เสียงจากผู้ต้องขัง “เติบโตและกล้าแกร่งในเรือนจำ:พื้นที่ของความรักและความห่วงใย” นิออน โกศะโยดม (เปียโน) อดีตผู้ต้องขังหญิงอุดรธานี พ้นโทษแล้ว เล่าว่า เมื่อครั้งที่อยู่ในเรือนจำอุดรธานีมีแบบสอบถามให้เลือกว่าจะเข้าร่วมทำกิจกรรมอะไร ก็เลือกโยคะ เพราะไม่รู้จักว่าคืออะไร รู้เพียงว่าเป็นการออกกำลังกาย เห็นแปลกดีจึงได้กรอกแบบฟอร์ม ครั้งแรกคิดว่าจะไม่ได้รับเลือก แต่เมื่อถูกเลือกแล้วจึงเข้าไปฝึกซ้อมโยคะ เกือบจะถอดใจแล้วเนื่องจากเล่นโยคะแล้วเจ็บเนื้อเจ็บตัวมาก ปวดเมื่อยทั้งตัว คิดว่าเล่นไม่ได้แล้ว สู้นั่งเฉยคุยกับเพื่อนให้ผ่านไปแต่ละวัน แต่ที่สุดก็เปลี่ยนความคิด เมื่อครูสอนโยคะมีวิธีพูดให้กลับมาคิดทบทวนตัวเองใหม่เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเองมากยิ่งขึ้น เปิดเผยตัวตนในการเล่นโยคะ จำเป็นต้องฝึกฝนตัวเองอย่างหนัก มีวินัยเข้ม
ในที่สุดก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในทีมที่แสดงโยคะต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่โรงแรมเซ็นทารา “เราเป็นผู้ต้องขังยังมีโอกาสดีในชีวิต ได้แสดงโยคะต่อหน้าพระที่นั่ง ทั้งๆ ที่เราเคยก้าวพลาดมาเยอะ ถือได้ว่าเป็นความโชคดีของตัวเอง” และถูกเลือกให้ไปแข่งขันโยคะที่โรงแรมปาร์คนายเลิศเพื่อโชว์ศักยภาพการแสดงโยคะของผู้ต้องขังหญิงชิงแชมป์เอเชียครั้งที่ 5 การที่ได้ฝึกฝนโยคะทำให้เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต เราต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ฟื้นฟูจิตใจ เราต้องต่อสู้กับสังคมภายนอก เราจะต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเรามีความสามารถ แม้ว่าครั้งหนึ่งเคยต้องโทษติดคุกร่วมกันพยายามฆ่า เนื่องจากไปกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม เกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้น เราอยู่ในเหตุการณ์ เพื่อนถูกจับแล้วให้การซัดทอดว่าเราอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดร่วมกันพยายามฆ่า เราเป็นผู้สั่งการ จึงถูกฟ้องร้องว่าร่วมกันฆ่าคนตาย ถูกตัดสินจำคุก 28 ปี 12 เดือน ศาลอุทธรณ์ตัดสินเหลือ 12 ปี 24 เดือน ปัจจุบันจำคุกไปแล้ว 5 ปี 6 เดือน
“ปกติทำงานที่บ้านในขอนแก่น แต่เมื่อส่วนหนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำอุดรฯ อิสรภาพหมดไป เราไม่มีอะไรเหลือแล้ว เมื่อมีโครงการดีๆ เข้ามาในเรือนจำ เกิดความภาคภูมิใจที่เราจะมีชีวิตต่อไปได้ เราอย่ามองอดีตให้มองอนาคตข้างหน้า” นิออน ให้ข้อคิดปิดท้ายรัชนี ศรีสุทธา (หญิง) อดีตผู้ต้องขังหญิงอุดรธานี กล่าวว่า มีพื้นฐานเป็นคนเกเร ติดนิสัยเป็นคนใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำก็เลือกเรียนวิชาโยคะจะได้มีวิชาติดตัว อีกทั้งอาจารย์ก็มาคัดตัวด้วยตัวเอง ต้องไปฝึกโยคะที่เรือนจำหญิงราชบุรี ตอนนั้นก็ไม่ได้อยากไปเท่าไหร่แต่ก็ต้องเข้าใจว่าอยู่ในโลกสี่เหลี่ยมแคบๆ เขาชี้ว่าให้ทำอะไรก็ต้องทำ อีกทั้งต้องการปรับเปลี่ยนตัวเอง และติดใจกับคำพูดที่ว่าถึงจะก้าวพลาดในชีวิต แต่ถ้าไม่เลือกเส้นทางหนูก็จะไม่ได้อะไรอีกเลย ฝึกโยคะอย่างหนัก เหนื่อยและเจ็บตัว บอกตรงๆ ว่าท้อทุกคืน ร้องไห้เพราะเจ็บปวด หมอนไม่ได้หนุนหัวแต่เอามาหนุนหลังเพราะเจ็บตัว บางครั้งถึงกับเผลอพูดว่า
“กูไม่รู้กูมาทำอะไรที่ตรงนี้ กูเล่นโยคะแล้วจะได้อะไร ในชีวิตนี้ไม่เคยลำบากขนาดนี้ เล่นโยคะลำบากที่สุดแล้วในชีวิต ครูสอนโยคะให้กำลังใจ แต่ใจหนูอยากจะกลับอุดรฯ แล้ว เพราะรู้สึกว่าเราเล่นไม่ได้แล้ว แต่อาจารย์ไม่อนุญาตให้กลับ สอนให้เล่นถึง 10 ท่า หนูไม่มีกำลัง อาจารย์ก็พูดว่าหนูไม่เคยเห็นคุณค่าในตัวเองหรือ ถึงอาจารย์จะไม่ใช่ตัวหนูแต่อาจารย์เห็นว่าหนูมีความสามารถ อาจารย์จะให้เล่นท่าต่อเนื่องต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา การที่เราถูกตัดขาดจากอิสรภาพ จากโลกภายนอก อาจารย์เป็นใครมาจากที่ไหนก็ไม่รู้ แต่การที่อาจารย์หยิบยื่นรักและคอยสอนพวกหนูทั้งๆ ที่พวกหนูก็ไม่ใช่ลูกของอาจารย์ แต่พวกหนูสัมผัสได้ว่าอาจารย์รักและใส่ใจให้กับพวกหนู หนูก็ฝึกโยคะ 52 วันจึงได้กลับมาที่เรือนจำอุดรฯ และได้เล่นต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในช่วงที่จะต้องกลับไปเรือนจำอุดรฯ ตอนนั้นไม่อยากจะกลับแล้ว เพราะอาจารย์และพี่เลี้ยงช่วยกันฝึกสอนเป็นอย่างดี ฝึกจนเรามีความชำนาญไม่พลาดกันได้ทุกคน” รัชนี ศรีสุทธา เล่าว่า โทษจำคุก 8 ปี 6 เดือน ทั้งเสพและขายยาเสพติด
หลังจากที่ รัชนี พ้นโทษแล้วก็รับจ้างสอนโยคะตามบ้าน สอนอยู่ที่พัทยา และเล่นโยคะโชว์ตามบาร์เป็นการโชว์ เล่นเพียงคนเดียว แต่เดิมเป็นคนที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง แต่เมื่อได้เล่นและฝึกซ้อมโยคะทำให้ร่างกายแข็งแรงดีขึ้น มีกล้ามเนื้อ สมัยก่อนไม่มีน้ำอดน้ำทน แต่ปัจจุบันมีความอดทนอดกลั้นสูงขึ้น เวลามีความเครียดพอลงเสื่อโยคะแล้วจะลืมความเครียดเสียสิ้น ทุกครั้งที่มีความกดดันในจิตใจพอได้ลงเสื่อโยคะแล้วทุกอย่างก็ดีขึ้น อาจารย์สอนโยคะบอกว่าถ้าเธอผ่านการเล่นโยคะไปได้จะไม่มีอะไรยากสำหรับเธออีกต่อไป เพราะเราได้เรียนรู้ความเจ็บปวดไปแล้วทั้งหมด ชีวิตจะดีขึ้น.
C-170502008118