
ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
จากนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาของกระทรวงพลังงาน วางเป้าหมายว่าอีก 19 ปีข้างหน้าจะต้องมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งหมายรวมรถ “อีวี” และ “ปลั๊ก-อินไฮบริด” ออกมาสู่ท้องถนนจำนวน 1.2 ล้านคัน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการเพิ่งพาการนำเข้าน้ำมัน ขณะเดียวกันยังเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ตามเทรนด์ของโลก หรือหวังให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต
ดังนั้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว จึงต้องเตรียมการวางระบบสาธารณูปโภคอย่างสถานีอัดประจุไฟฟ้าไว้รองรับ โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กำลังอยู่ในช่วงขับเคลื่อนแผนระยะที่ 1 ซึ่งจะนำเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มาส่งเสริมการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้กับหน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาของรัฐ และเอกชน วางเป้าหมายเบื้องต้น 100 หัวจ่ายทั่วประเทศ ล่าสุดได้ประกาศรายชื่อหน่วยงานที่ผ่านการคัดเลือกรอบ 3 ที่จะได้รับเงินสนับสนุนอีก 39 ราย แบ่งเป็นหน่วยงานราชการ เช่น กรมการขนส่งทางบก,สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (จังหวัดต่างๆ), สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน โดยกรณีติดตั้งแบบ 2 หัวชาร์จคือนอร์มอลและควิกชาร์จในหนึ่งสถานีจะได้รับเงินสนับสนุนประมาณ 2 ล้านบาทต่อ 1 สถานี
ในส่วนมหาวิทยาลัยที่ผ่านการคัดเลือกในรอบนี้ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้รับเงินสนับสนุนตั้งแต่ 1 แสน-1 ล้านบาท
ด้านห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัล ที่เน้นหัวจ่ายประเภทนอร์มอลชาร์จ ได้รับเงินสนับสนุน 30,000 บาทต่อ 1 สาขา
ทั้งหลายทั้งปวง เมื่อรวมการคัดเลือกในรอบแรกและรอบที่ 2 แล้ว จะมีหน่วยงานที่เตรียมพร้อมติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าถึง 77 ราย
ในส่วนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ อย่างเมอร์เซเดสเบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู ที่มีความชัดเจนที่สุดในการผลิตและทำตลาดรถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริดในเมืองไทย ยืนยันแผนนี้เมื่อรายแรกจะเพิ่มสัดส่วนยอดขายรถพลังงานลูกผสมจาก 30% เป็น 40% จากรถยนต์ทั้งหมด ด้วยรถยนต์ 4 รุ่นคือ ซี, อี, เอส-คลาส และ จีแอลอี
ขณะที่บีเอ็มดับเบิลยูปัจจุบันมี 3 รุ่น คือ ซีรีส์3,7 และเอ็กซ์5 ปลั๊ก-อินไฮบริด จะเพิ่มสัดส่วนการขายจาก 5% ในปีที่แล้วเป็น 15%ในปีนี้
โดยเมอร์เซเดส-เบนซ์ มีจุดชาร์จไฟในห้างสรรพสินค้าดัง 3 แห่ง แต่ปีนี้มีแผนเพิ่มจุดชาร์จให้ครบทุกโชว์รูมเมอร์เซเดส-เบนซ์ 32 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่บีเอ็มดับเบิลยูจะเพิ่มจาก 5 แห่งในปัจจุบันเป็น 20 แห่งในปีนี้
ด้าน “ชไนเดอร์ อิเลคทริก” ผู้วางระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าและดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำ โดย “ธนากร วงศ์วิเศษ” รองประธานกลุ่มธุรกิจการค้าปลีก เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการสนับ สนุนของรัฐบาล ซึ่งการวางแผนสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าต้องมองไปข้างหน้าอีก 5 ปี
บริษัทได้การตอบรับจากค่ายรถยนต์และดีเวลอปเปอร์ด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างดีในการติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้า เพราะทั้งบ้านและคอนโดมิเนียมต้องเตรียมออกแบบจุดชาร์จไฟฟ้าตั้งแต่วันนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะสามารถรองรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือรถยนต์แบบปลั๊ก-อินไฮบริดได้พอดี
“ปัจจุบันเรามีลูกค้ารายย่อย ติดตั้งวอลบ็อกซ์ตามบ้านเรือนที่ขยายตัวตามยอดขายรถยนต์ แต่กระนั้นคาดหมายว่าสถานนีชาร์จไฟสาธารณะ ที่รัฐบาลส่งเสริมและภาคเอกชนลงทุนเองน่าจะมีจำนวนถึง 300 แห่งภายใน 5 ปีข้างหน้า” นายธนากรกล่าวสรุป
. ถือเป็นความชัดเจนสำหรับแผนเตรียมความพร้อมรองรับจำนวนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และน่าจะสร้างความมั่นใจให้คนที่กำลังตัดสินใจซื้อรถประเภทนี้ได้บ้าง