ธัญบุรี ประดิษฐ์เครื่องผลิตน้ำดื่มพกพา จ่อจดสิทธิบัตร พร้อมผลิตเชิงพาณิชย์

มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ โรจน์วิรุฬห์ นักวิจัยและอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า จากปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ส่งผลให้ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดื่ม ตนจึงได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ผลิตน้ำขึ้นมาใช้เพื่อผลิตน้ำดื่ม เป็นอุปกรณ์ผลิตน้ำแบบพกพาที่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภคได้เป็นอย่างดี สามารถนำไปใช้ได้ในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำดิบ นำประปา น้ำผิวดิน สามารถผลิตน้ำสำหรับบริโภคได้ 1.0 ลิตรต่อครั้ง เป็นน้ำดื่มที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก โดยหลักการทำงานมี 2 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ขั้นตอนการแยกอนุภาคแขวนลอยที่ปนเปื้อนในน้ำดิบโดยอาศัยหลักการก่อตะกอนทางเคมี 2. ขั้นตอนการกรองน้ำด้วยเยื่อกรองเมมเบรนและอาศัยแรงดันจากชุดสร้างแรงดัน วิธีใช้เครื่อง เติมน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เติมสารก่อตะกอนในปริมาณที่เหมาะสม จากนั้นกวนเร็ว 1-2 นาที กวนช้า 10 นาที ทิ้งให้ตกตะกอน 30 นาที และปล่อยส่วนที่เป็นตะกอนทิ้ง เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการประยุกต์กระบวนการผลิตน้ำสะอาดโดยใช้การก่อตะกอนและการตกตะกอนโดยใช้สารเคมี เมื่อทำการแยกตะกอนของสิ่งปนเปื้อนใน
น้ำแล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวจะมีส่วนประกอบที่ใช้กระบวนการกรองน้ำด้วยเยื่อกรองเมมเบรนและชุดสร้างแรงดัน ทำให้สามารถผลิตน้ำที่มีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้บริโภคได้ โดยจุดเด่นของอุปกรณ์ชุดนี้คือ มีขนาดเล็ก มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร สูง 32 เซนติเมตร น้ำหนัก 1 กิโลกรัม สะดวกต่อการพกพา ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ซึ่งสามารถตอบสนองการใช้งานในสภาวะการเกิดอุทกภัย หรือภาวะขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับบริโภค และสามารถนำไปผลิตและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้เนื่องจาก ส่วนประกอบของอุปกรณ์มีจำนวนน้อยชิ้น และขั้นตอนการทำงานไม่ยุ่งยากซับซ้อน กรณีที่ผลิตโดยใช้วัสดุอื่นๆ เช่น พลาสติก ที่มีราคาต้นทุนต่ำลง และผลิตเป็นจำนวนมาก ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการจดสิทธิบัตร นักวิจัย มทร.ธัญบุรี กล่าวในตอนท้าย

C-170510038132

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]