
ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 03 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
คุกกี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนรู้จักและนิยมบริโภคกันมาก มีขายทั่วไป นิยมรับประทานเป็นอาหารเช้ากับกาแฟ เป็นอาหารว่างทานกับน้ำชาหรือน้ำหวาน หรือมีการประชุมสัมมนา จะมีการจัดอาหารว่างประเภทคุกกี้กับน้ำชากาแฟ น้ำหวานหรือน้ำผลไม้ เนื่องจากจัดเตรียมได้สะดวก เก็บได้นาน ราคาไม่แพง มีคุณค่าทางโภชนาการมากพอควร ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามินและเกลือแร่
จากการสำรวจแหล่งปลูกดอกโสนเพื่อจำหน่าย ส่วนใหญ่มักพบปัญหาวัตถุดิบล้นตลาด ราคาตกต่ำและเกิดการเน่าเสีย นายวัชรศักดิ์ จักกิจ นักศึกษาสาขาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยี คหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จึงได้หาแนวทางเพื่อไขปัญหาดังกล่าว โดยการนำดอกโสนมาตากแห้งแล้วบดเป็นผง ผสมหรือเสริมลงในคุกกี้ ซึ่งมีอาจารย์รัตนาภรณ์ มะโนกิจ อาจารย์สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ มทร.ธัญบุรี เป็นที่ปรึกษา
“ดอกโสนเป็นพืชผักในกลุ่มผักท้องถิ่น มีดอกสีเหลืองทอง มักขึ้นบริเวณริมคลอง คนส่วนใหญ่นิยมทานในส่วนของดอกและยอดอ่อน
ตัวอย่างเมนูที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ ขนมดอกโสน แกงส้มดอกโสน ไข่เจียวดอกโสน หรืออาจนำมาผัดน้ำมันหรือลวกสำหรับทานคู่กับน้ำพริกนานาชนิด ซึ่งรสชาติของดอกโสนจะให้รสหวานมันและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว” วัชรศักดิ์อธิบาย
สูตรที่เหมาะสมสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์คุกกี้เนยสดเสริมดอกโสน ประกอบด้วย แป้งสาลี ผงฟู เนยสด น้ำตาลทราย ไข่ไก่ กลิ่นวานิลลา และดอกโสนอบแห้งบดละเอียด วิธีการผลิต เตรียมดอกโสนสด เด็ดดอกโสนส่วนที่กินได้
แล้วนำไปล้างให้สะอาด พักให้สะเด็ดน้ำ นำดอกโสนเข้าอบในตู้อบลมร้อน ที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส 8 ชั่วโมง แล้วทำการบดละเอียด ร่อนแป้ง ผงฟู และดอกโสนที่เตรียมไว้เข้าด้วยกัน พักไว้ ตีเนยสดด้วยความเร็วปานกลางจนอ่อนตัว
จากนั้นค่อยๆ เติมน้ำตาลทรายป่นจนหมด
ตีด้วยความเร็วสูงให้ส่วนผสมเข้ากัน จนส่วนผสมฟูเบา จากนั้นค่อยๆ ใส่ไข่ไก่แช่เย็นทีละฟองลงไปจนหมด ใส่กลิ่นวานิลลา ลดความเร็วอ่อนสุด ใส่แป้งที่พักไว้จนหมด ตีให้ส่วนผสมเข้ากัน นำส่วน
ผสมคุกกี้ที่ได้ใส่ลงในถุงบีบคุกกี้ ทาเนยขาวบางๆ บนถาดอบให้ทั่ว บีบให้เป็นรูปดอกไม้ เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 1 นิ้ว อบที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที หรืออบจนสุก พักบนตะแกรงพักขนมให้เย็น แล้วแบ่งบรรจุ
คุกกี้เนยสดเสริมดอกโสนยังคว้ารางวัลระดับดีมาก จากการประกวด The 6th RMUTT Young Talent Inventor Awards จัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี นับเป็นการพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา และเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับชุมชนท้องถิ่นที่จะนำไปใช้ประโยชน์สำหรับสร้างอาชีพต่อไป ผู้สนใจสูตรหรือคำแนะนำเพิ่มเติม โทร.08-6114-4157.